สายด่วน อต. 1182
สายด่วน อต. 1182

ประเทศไทยเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการไต้ฝุ่น สมัยที่ 56

ประเทศไทยเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการไต้ฝุ่น สมัยที่ 56
วันที่ข้อมูล 01 มีนาคม 2567

วันที่ 27 กุมภาพันธ์ – 1 มีนาคม 2567 นายวัฒนา กันบัว ผู้อำนวยการกองพัฒนาอุตุนิยมวิทยา (หัวหน้าคณะผู้แทนไทย) พร้อมด้วยผู้แทนกรมอุตุนิยมวิทยา กรมชลประทาน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ รวม 8 คน เดินทางเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการไต้ฝุ่น สมัยที่ 56 (The 56th Session of Typhoon Committee: TC56) ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย โดยมีกรมอุตุนิยมวิทยามาเลเซียเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม

การประชุม TC56 มีผู้เข้าร่วมการประชุมจากประเทศสมาชิกคณะกรรมการไต้ฝุ่น 12 ประเทศ จากสมาชิกทั้งหมด 14 ประเทศ ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน เขตบริหารพิเศษฮ่องกง ญี่ปุ่น สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เขตบริหารพิเศษมาเก๊า มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สาธารณรัฐเกาหลี สิงคโปร์ เวียดนาม สหรัฐอเมริกา และไทย (ราชอาณาจักรกัมพูชา และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี ไม่ส่งผู้แทนเข้าร่วมการประชุม) และผู้แทนองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organization: WMO) จากสำนักงานใหญ่ ณ นครเจนีวา และผู้แทนในสำนักงานระดับภูมิภาค คณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก (ESCAP) สำนักเลขาธิการคณะกรรมการไต้ฝุ่น และผู้สังเกตการณ์จากกรมอุตุนิยมวิทยาบรูไน ศูนย์เตรียมความพร้อมรับมือกับภัยพิบัติแห่งเอเชีย (Asian Disaster Preparedness Reduction Center: ADRC)  มหาวิทยาลัยซุนยัดเซ็น (Sun Yat-Sen University) มหาวิทยาลัยโทโฮกุ (Tohoku University) และสหพันธ์สภากาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศ รวมประมาณ 95 คน โดยอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยามาเลเซียจะทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการไต้ฝุ่น สมัยที่ 56 (TC56) และอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยาฟิลิปปินส์จะทำหน้าที่รองประธานคณะกรรมการไต้ฝุ่น สมัยที่ 56

              การประชุมคณะกรรมการไต้ฝุ่นจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อนำเสนอผลงานความก้าวหน้าทางวิชาการที่เกี่ยวข้องกับการเตือนภัยพิบัติล่วงหน้า รายงานกิจกรรมของคณะกรรมการไต้ฝุ่น นำเสนอความคืบหน้าการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติงานของคณะทำงานต่าง ๆ ในปีที่ผ่านมา วางแผนกิจกรรมที่จะดำเนินการในรอบปีถัดไป อนุมัติงบประมาณและโครงการต่าง ๆ การนำเสนอสรุปข้อมูลพายุที่เกิดขึ้นในปี 2566 นอกจากนี้ คณะทำงานด้านอุตุนิยมวิทยา (Working Group on Meteorology: WGM) ได้เสนอให้ที่ประชุมพิจารณาการแต่งตั้งผู้แทนประเทศไทย นายวัฒนา กันบัว ผู้อำนวยการกองพัฒนาอุตุนิยมวิทยา เป็นผู้เชี่ยวชาญในคณะกรรมการกำกับดูแลด้านวิทยาศาสตร์ระหว่างประเทศ (International Science Steering Committee: ISSC) ของศูนย์วิจัยความร่วมมือไต้ฝุ่นแห่งเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Typhoon Collaborative Research Center: AP-TCRC) ซึ่งเป็นการแต่งตั้งเพื่อทดแทนผู้เชี่ยวชาญ (ประเทศฟิลิปปินส์) ที่เกษียณอายุราชการ โดย AP-TCRC ตั้งอยู่ ณ Lingang Special Area เมืองเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยที่ประชุมได้เห็นชอบและอนุมัติตามเสนอแล้ว พร้อมกันนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาการทดแทนและถอดถอนชื่อพายุที่สร้างความเสียหายให้แก่ประเทศสมาชิก โดยหลักเกณฑ์การเลือกชื่อเพื่อนำมาใช้เป็นชื่อพายุ ได้แก่ เป็นชื่อที่มีตัวอักษรไม่เกิน 9 ตัวอักษร ง่ายแก่การออกเสียงทางวิทยุและโทรทัศน์ ไม่มีความหมายเชิงลบ ไม่สร้างความยุ่งยาก ไม่ควรเป็นชื่อทางการค้า และไม่เป็นชื่อที่คล้ายคลึงกับชื่อพายุหมุนเขตร้อนในบริเวณอื่น ๆ โดยที่ประชุมคณะกรรมการไต้ฝุ่น สมัยที่ 56 พิจารณาอนุมัติชื่อพายุเพื่อทดแทนชื่อที่ถูกถอดถอนจากการประชุมสมัยที่ผ่านมา (TC55) จำนวน 9 ชื่อ ดังนี้

 

 

ลำดับ

รายชื่อพายุที่ถูกถอดถอน

ชื่อพายุที่นำมาใช้ทดแทน

ประเทศ

1

NALGAE  (นัลแก)

JAMJARI  (ชัมจารี)

สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี

2

MA-ON  (หมาอ๊อน)

TSING-MA  (ซิงหม่า)

เขตบริหารพิเศษฮ่องกง

3

KOMPASU  (คมปาซุ)

TOKEI  (โทเก)

ญี่ปุ่น

4

HINNAMNOR  (หินหนามหน่อ)

ONG-MANG  (อง-มั่ง)

สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

5

MALAKAS  (มาลากัส)

AMUYAO  (อามูเยา)

ฟิลิปปินส์

6

MEGI  (เมกี)

GOSARI  (โคซารี)

สาธารณรัฐเกาหลี

7

NORU  (โนรู)

HODU  (โฮดู)

สาธารณรัฐเกาหลี

8

RAI  (ราอี)

SARBUL  (ซาบุล)

สหรัฐอเมริกา

9

CONSON  (โกนเซิน)

LUC-BINH  (หลุกบิ่ญ)

เวียดนาม

กรมอุตุนิยมวิทยาจะได้จัดทำรายชื่อพายุที่ปรับปรุงใหม่ตามข้างต้นและเผยแพร่ในเว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยาต่อไป